วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เอกลักษณ์ดาบไทย

ดาบเมืองมีหลายขนาด และหลายรูปแบบ ต่อไปนี้เป็นรายละเอียด ส่วนต่าง ๆ ของดาบเมืองไทย

ฝักดาบ

.....ฝักดาบ คือเครื่องห่อหุ้มตัวดาบ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้พาพาและสามารถสะพายดาบ ไปไหน ๆ ได้โดยสะดวกฝักดาบเป็นที่ผูกยึดติดกับสายดาบสำหรับคล้องไหล่สะพายบ่า และนอกจาก นี้กล่าวกันว่ายังใช้เป็นอาวุธในยามต่อสู้ได้อีกด้วย ฝักดาบทำด้วยไม้สองชิ้นที่มีลักษณะ และขนาด ความกว้างไล่เลี่ยกับความกว้างของตัวดาบนิยมใช้ไม้ที่มีน้ำหนักเบา เหนียว และคงรูป เช่น ไม้โมกมัน ไม้สัก เป็นต้นโดยเฉพาะไม้โมกมัน เป็นไม้ที่ไม่กินคมดาบ มีน้ำหนักเบา และเมื่อใช้ไปนาน ๆผิวไม้ จะมันวาว สวยงาม
เมื่อนำไม้มาประกบกันแล้ว ส่วนโคนจะเป็นลำกลมมีขนาดใกล้เคียงกับด้ามดาบตรงส่วนที่ติด กับ กระบังดาบ หรือเขี่ยวแล้วค่อย ๆ เพรียวไปทางปลาย ตามลักษณะของตัวดาบ ไม้ด้านในของฝักจะถูกเซาะร่องให้เป็นรูปดาบ มีขนาดไล่เลี่ยกับตัวดาบ เมื่อนำมาประกบกันแล้วโคนฝักจะเป็นรูปลิ่ม ความกว้าง รูปลิ่มดังกล่าวจะกว้างกว่าท้องดาบเพื่อให้สามารถสอดดาบเข้าฝักได้โดยสะดวก เมื่อประกบไม้เข้าด้วยกันแล้วจะพัน หรือสวมทับด้วยวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้คงรูป เช่น ใช้แถบโลหะหรือห่วงเส้นทางมะพร้าว หรือ หวาย หรือเสื้อเขือง (ปาล์มประเภทหนึ่ง)มีลักษณะคล้ายวงแหวน เรียกว่า ปอบหรือปลอก มีปลอกสาม หรือปลอกห้าสวมทับเข้าไป บางฝักจะใช้เชือก หรือผ้าพันทับแล้วลงรักส่วนปลายฝักจะตอกตะปู หรือ หมุดยึดไว้ตรงโคนฝักเป็นส่วนที่จะสัมผัสกับคมดาบจะใช้ปลอกโลหะหุ้มรัดไว้หรือใช้หนังสัตว์พันรอบแล้วพันทับ ด้วยสายดาบให้มั่นคงแข็งแรง

.....ฝักดาบยศ าบประจำตำแหน่งบางเล่มจะหุ้มด้วยโลหะมีค่า เช่นทองคำ หรือเงิน เรียกดาบหลูบคำหลูบเงิน มีทั้งที่ตกแต่งลวดลายดวงดอกงดงามหรือเป็นทองเกลี้ยงเงินเกลี้ยง ลวดลายและวิธีการทำฝักจะสัมพันธ์กับด้ามดาบด้วย กล่าวคือเมื่อสอดดาบเข้าฝักแล้วดาบทั้งเล่มจะกลมกลืนกันเป็น
ชิ้นเดียวไม่มีลักษณะแปลกแยกด้านเทคนิคและฝีมือ
 

.....
ด้ามดาบคือส่วนที่กั่นดาบฝังลงไปยึดแน่นและใช้เป็นที่จับเพื่อใช้งานดาบเมืองที่เป็นดาบใช้มักทำด้วย ไม้ไผ่รวก ปล้องยาวเพียงปล้องเดียวแต่บางท่านว่าใช้ไม้ไผ่หก ไผ่บงป่า ไผ่ไล่ ไม้ไผ่ไล่นี้เอาเคล็ดที่ชื่อคือไล่ ศัตรูพ่าย ส่วนโคนด้าม คือส่วนที่สัมผัสกับโคนดาบ หรือส่วนที่มีปลอกโลหะหรือเขี่ยว มีทรงกลม มีขนาดใกล้เคียง หรือเท่ากับโคนฝักแล้วเหลาให้เพรียวลงถึงส้นด้าม ดาบเมืองโดยเฉพาะ ดาบใช้ ไม่นิยมทำเขี่ยวจะใช้ปลอกหวายสวมทับให้แน่นทีละปลอก โดยสวมเข้าทางส้นแล้วเรียงลำดับให้แน่นเรียวลงมาถึงส้น ใช้แผ่นโลหะทรงกลม หรือ เหรียญสตางค์แดงหรือเงินแถบ หรือเหรียญอื่น ๆปิดส้นแล้วตอกตะปูยึดเพื่อป้องกันไม่ให้ปลอกหลุดถ้าเป็นดาบชาวลัวะจะทำปลอกเงินสวมปิด นิยมตอก ลวดลายเป็นรูปปลาสลิกเช่นเดียวกับปลายฝักจะเป็นรูปปลาสลิกเช่นกันบางเล่มใช้ลิ่มตอกเข้าตรงรูกลวง ส้นด้าม เพื่อให้ด้ามขยายขนาดจะทำให้ปลอกรัดแน่นขึ้น แต่หากรัดปลอกแน่นดีแล้วก็ไม่ต้องตอกลิ่มใช้เพียงแผ่นโลหะปิด มีดาบบางเล่มบรรจุเครื่องรางของขลังในรูกลวงไม้ไผ่เช่น ผ้ายันต์ แผ่นยันต์โลหะม้วนลงอักขระเศษผ้าคล้ายจีวรอัดด้วยขี้ผึ้งหรือขี้ชันโรงคงเป็นวิธีการเฉพาะของเจ้าของดาบเล่นนั้น ๆ 
อาจไม่ใช้ขนบโดยทั่วไป


.....ด้ามดาบนอกจากทำจากไม้ไผ่แล้ว ยังทำจากสิ่งอื่นอีก เช่นไม้เนื้อแข็งหรือไม้จริง งา กระดูกสัตว์ เขาสัตว์ด้ามที่ทำจากวัสดุดังกล่าวนี้มักเป็น ดาบยศ ดาบขนาดเล็ก หรือมีดพก มีดอุ่มต้องมีเขี่ยวหรือปลอก สวมเพื่อยึดกั่นกับด้ามและเพื่อกันไม่ให้ด้ามแตกบางเล่มตกแต่งและแกะลวดลาย เป็นรูปต่าง ๆ งดงาม เช่น รูปหนุมาน พระพิฆเนศหรือดอกดวงอย่างวิจิตร นักสะสมดาบและพ่อค้าของโบราณกล่าวว่าเป็นงานฝีมือของช่าง ชาวไทใหญ่ รัฐฉาน บ้างก็ว่าเป็นฝีมือชาวเผ่าลัวะด้ามดาบยศวิจิตรงดงามนี้มักแต่งด้วยปลอกเงินส้นด้ามมีหัวบัวประดับทุกส่วนจะหุ้มเงินเว้นแต่ ที่ต้องการอวดคือ งา หรือเขา เท่านั้น

 ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าแต่งด้ามได้งดงามเท่าใด ฝักก็ต้องตกแต่งให้งดงามเสมอกันดังนั้นดาบยศงดงามวิจิตร จึงเป็นของหายากและแพงค่ายิ่งการยึดกั่นกับด้ามให้มั่นคงแข็งแรงนั้นหากด้ามเป็นไม่ไผ่จะมีรูโดยธรรมชาติสำหรับสอดกั่นเข้าไป ถ้าเป็นไม้จริง งาหรือเขา ต้องเจาะรูเพื่อยึดกั่นแต่มักทำได้ยากจึงต้องอาศัยเขี่ยวหรือปลอกสวมยึดให้มั่นการเข้าด้ามดาบด้วยการเผาไฟให้ร้อนพอประมาณตำครั่งจนเป็นผงเทใส่รูด้ามจนเต็มนำกั่นร้อนสอดเข้าไปแล้วถอดออกใส่ครั่งอีกครั้งให้เต็มเผากั่นใส่ลงไป จับด้ามดาบให้อยู่ทรงในตำแหน่งที่พอเหมาะรอจนเย็นก็ใช้การได้บางด้ามจะใช้ผ้าเนื้อดีบุในรูก่อนจะเทผงครั่งลงไปแล้วทำตามขั้นตอนดังที่กล่าวมา การใช้ผ้าบุข้างในเพื่อให้ด้ามกับกั่นยึดแน่นคงทนหลุดยาก ดาบบางเล่มจะมีฝาครอบโคนด้ามโดยเจาะรูเฉพาะให้กั่นฝังลงไปงเพื่อความเรียบร้อยสวยงามและกันไม่ให้ครั่งหลุด


เหล็กดาบ
.....เหล็กที่ใช้ทำดาบต้องเป็นเหล็กเนื้อดีมีความแข็งและเหนียวเล่ากันว่าต้องหลอมไล่ตะกรันเป็นอย่างดีมีพิธีกรรมประกอบ และเหล็กต้องมีส่วนผสม อื่น ๆ เพื่อให้เกิดความขลังบ้างก็ว่าต้องตีทบไปมาหลายร้อยครั้งเพื่อให้เนื้อเหล็กเป็นเส้นจะทำให้เหล็กเหนียวเป็นพิเศษ คำเล่าขาน ดังกล่าวนี้ยังไม่มี หลักฐานยืนยันชัดแจ้งแต่การจะตีเหล็กเพื่อทำดาบเป็นอาวุธเพื่อใช้ในการต่อสู้นั้นคงต้องคำนึงถึงคุณภาพเหล็ก อย่างแน่นอน ถ้าเหล็กไม่ดีเปราะหักง่ายหรือไม่ใช่เหล็กกล้าเมื่อประดาบหรือฟันถูกของแข็งเกิดการเสียหายในขณะรณยุทธ์ก็หมายถึงชีวิตเลยทีเดียว เหล็กดีที่ได้รับการกล่าวถึง มากที่สุดคือเหล็กน้ำพี้ หรือเหล็กหนึกจากบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ อำเภอทองแสนขันจังหวัดอุตรดิตถ์ เหล็กน้ำพี้ดังกล่าวนี้ ไม่เป็นสนิมมีสีเขียวเหมือนปีกแมลงทับแต่การจะถลุงเหล็กให้ได้เหล็กสำหรับทำดาบนั้นเป็นเรื่องยากอีกทั้งเหล็กน้ำพี้ จะสงวนไว้สำหรับทำพระแสงดาบหรืออาวุธสำคัญในราชสำนักทางใต้เท่านั้นจึงเป็นการยากที่จะหาเหล็กน้ำพี้มาใช้ทำดาบเรือนหรือดาบใช้ทั่วไปส่วนบ่อเหล็กในเขตจังหวัด เชียงใหม่ นั้นเล่าว่าอยู่ที่บ่อหลวง อำเภอฮอดแต่เป็นเหล็กคุณภาพต่ำนิยมนำมาตีเป็นเครื่องในครัวเรือนและการเกษตรส่วนดาบที่ทำจากจังหวัด ลำปาง ซึ่งมักเรียกขานกันว่าดาบลำปางสมัยหลังสงครามโลก .
.....ดาบเมืองโดยเฉพาะที่ปรากฏในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จากาการศึกษาของธีรศักดิ์ ญาณสาร(๒๕๓๒) พบว่าราวร้อยละแปดสิบเป็นดาบที่หาซื้อมา จากรัฐฉาน ประเทศพม่าทีทั้งเดินทางไปซื้อและมีพ่อค้าจากรัฐฉานนำมาขายมีบางส่วนที่รับตีดาบตามสั่งทำ และนอกจากนี้น่าจะมีดาบจาก ภาคกลางหรือจากประเทศลาวเข้ามาขายด้วย ดาบที่ซื้อมาจากภาคกลางจะมีรูปแบบเฉพาะกล่าวคือ มีท้องดาบ ปลายดาบแหลม คนล้านนา เรียกขาน ดาบชนิดนี้ว่า ดาบไทยฯลฯ

ตัวดาบ

.....ตัวดาบ หรือใบดาบเมืองนั้นดังได้กล่าวแล้วว่ามีความยาวประมาณหนึ่งศอกถึงสองศอก หรืออาจยาวกว่านี้ส่วนความกว้างนั้นก็ประมาณ สองถึงสามนิ้วมือความกว้างของดาบแต่ละเล่มจะขึ้นอยู่กับลักษณะของปลายดาบกล่าวคือถ้าเป็นดาบใบคา คือมีลักษณะคล้ายใบคา ดาบจะแคบมากถ้าเป็นดาบปลายบัว ตัวดาบจะกว้าง และถ้าเป็นดาบปลายว้ายก็จะไต่ระดับความกว้างจากแคบไปกว้างจนถึงปลายดาบ โดยปกติโคนดาบต้องแคบและหนากว่าท้องดาบก่อนจะเรียวแหลมเป็นปลายดาบสันดาบหนาตั้งแต่โคนดาบแล้วเพรียวบางจนถึงปลาย ดาบบางเล่มสันดาบจะคมเช่นเดียวกับด้านคม เมื่อมองทางด้านข้างปลายดาบจะเชิดขึ้นซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของดาบส่วนจะเชิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะ ของปลายดาบดังจะได้กล่าวต่อไป

.....ตัวดาบโดยปกติจะไม่มีการตกแต่งลวดลายใด ๆเป็นพิเศษ มีดาบบางเล่มที่ตกแต่งตัวดาบงดงาม กล่าวคือมีการแต่งเป็นร่องนิยมเรียกกันว่า ร่องเลือดเป็นร่องลึกพอให้เห็นเป้นแนวยาวจากโคนดาบสู่ปลายดาบบางเล่มมีร่องเลือดเหมือนกันทั้งสองด้าน หรือแต่งเป็นลวดลายทำนองลายกนกแต่ไม่อ่อนช้อยดังลายเส้น บางเล่มฝังทองแดงหรือทองเหลืองที่ตัวดาบสันดาบมีทั้งสันเรียบและสันสามเหลี่ยมดาบสันเรียบบางเล่มที่สันจะฝังทองแดงหรือทองเหลืองด้วยหรือไม่ก็ทำเป็นรอยขีดหลาย ๆ ขีดดาบบางเล่มที่ตัวดาบใกล้โคนจะประทับตราคล้ายกับเป็นสัญลักษณะทางการค้าหรือสัญลักษณ์ของเตาที่ทำดาบ เท่าที่พบมีหลายแบบ เช่น รูปดอกจันรูปพระอาทิตย์ รูปพระอาทิตย์คู่ รูปเต่า รูปดวงตามีทั้งประทับตราด้านเดียวและทั้งสองด้าน หรือประทับตราสองแห่งด้านเดียวกัน

ปลายดาบ

.....ลักษณะของปลายดาบแต่ละแบบเป็นการกำหนดการเรียกขานชื่อดาบนั้น ๆ ด้วย เช่นดาบปลายว้าย ดาบปลายบัว เป็นต้น การตีดาบแต่ละเล่มผู้ตี คงต้องกำหนดแบบไว้แล้ว ลักษณะของปลายดาบต้องพ้องกับประโยชน์การใช้สอยดาบเมืองโบราณทั้งดาบยศและดาบใช้เท่าที่ได้พบเห็น ปลายดาบ มีลักษณะต่าง ๆดังนี้

.....๑. ดาบปลายเหลี้ยม ดาบปลายซุย หรือ ดาบปลายแซวปลายดาบจะแหลมคม เน้นประโยชน์การแทงละลุ ฟัน และเฉือน มีลักษณะต่าง ๆที่สัมพันธ์กับตัวดาบ คือ
.....๑.๑ ปลายเหลี้ยม ปลายซุย หรือปลายแซวด้านสันดาบจะเชิดขึ้นเล็กน้อย ทั้งตัวดาบและท้องดาบเพรียวคล้ายมีดพกถ้าท้องดาบกว้าง ๆ มักเรียกขานว่า ดาบไทยปลายเหลี้ยม
.....๑.๒ปลายเหลี้ยมใบข้าว หรือปลายใบข้าว เรียกดาบใบข้าวตัวดาบมีลักษณะเหมือนใบข้าว โคนเล็กท้องดาบกว้างพอประมาณส่วนปลายดาบจะตรงและแหลม
.....๑.๓ ปลายเหลี้ยมใบคา หรือปลายคา เรียกดาบใบคา ตัวดาบมีขนาดเล็กแคบเสมอกันตั้งแต่โคนดาบถึงปลายดาบ เรียวเหมือนใบหญ้าคา

.....๒.ดาบปลายว้าย เป็นดาบที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากดาบไทยตัวดาบตั้งแต่โคนถึงปลายมีความกว้างเสมอกัน สันดาบตรงปลายเชิดขึ้นเล็กน้อยด้านคมก็เชิดขึ้นตาม เน้นประโยชน์การฟันและเฉือนดาบปลายว้ายอีกลักษณะหนึ่งซึ่งพบเห็นน้อยมากคือปลายว้ายหัวแม่โต้คือปลายดาบมีขนาด ความกว้างกว่าโคนเชิดขึ้นคล้ายกับมีดอีโต้ เน้นการฟัน เพราะน้ำหนักจะอยู่ส่วนปลายดาบ

..... ๓. ดาบปลายบัว ดาบปลายมน หรือดาบหัวบัว เป็นดาบที่เน้นความสวยงามและการฟัน มี ๒ ลักษณะ คือ
.....๓.๑ปลายบัว ปลายดาบคล้ายดอกบัวตูม หรือกลีบดอกบัวตัวดาบมีขนาดความกว้างเสมอกันทั้งเล่ม หรือโคนดาบเล็กกว่าปลายดาบเล็กน้อยคล้ายาดาบจีน แต่ปลายดาบจะมนกว่า
.....๓.๒ ปลายบัวหัวเหยี่ยน หรือดาบหัวเหยี่ยน ปลายดาบมีลักษณะคล้ายส่วนหัวของ
ปลาไหล (เหยี่ยน=ปลาไหล) โคนดาบมีขนาดเล็กกว่าปลายดาบ แล้วค่อยกว้างขึ้นส่วนปลายด้านสันเชิดขึ้นเล็กน้อย ถ้าปลายมนปลายดาบมักทำเป็นสองคม

.....๔. ดาบปลายเปียง หรือดาบปลายตัด ดาบชนิดนี้ตัวดาบมักมีขนานกว้างส่วนปลายซึ่งปกติจะแหลมกลับมีลักษณะเหมือนถูกตัดหรือดาบหักเน้นประโยชน์การฟัน เล่ากันว่าเป็นดาบของชาวเชียงใหม่ยุคพม่าปกครองพม่าเกรงว่าชาวเชียงใหม่จะคิดกบฏจึงตัดปลายดาบทิ้งขนบการทำดาบปลายเปียงจึงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

เชือกดาบ หรือสายดาบ 

.....เชือกดาบหรือสายดาบมีความสำคัญต่อาการพกพาดาบไปยังที่ต่าง ๆ ได้โดยสะดวกเชือกดาบมีหลายขนาดและหลายสี เส้นโตที่สุดประมาณ เท่านิ้วมือและมีขนาดอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของดาบเชือกดาบเท่าที่พบมีสีแดงสีดำกล่าวกันว่าแต่เดิมสีของเชือกดาบอาจหมายถึงหมู่ หรือเหล่าของทหารก็เป็นได้เชือกดาบทำจากผ้าคล้ายผ้ายืดแล้วยัดเศษผ้าหรือเส้นด้ายไว้ด้านในนุ่ม ๆทำเป็นเส้นยาว ๆ ทำนองเดียวกับการทำ ไส้กรอก สายดาบมักมาคู่กับฝักดาบ เดชาเตียงเกตุ (สัมภาษณ์ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๔) กล่าวว่า น่าจะทำจากพม่าผลิตในโรงงานเฉพาะ เพราะเศษผ้า และเส้นด้ายนั้นเป็นผ้าเทศด้ายเทศไม่ใช่ลักษณะของผ้าฝ้ายปั่นมือในท้องถิ่นการมัดเชือกดาบกับฝักทำได้หลายวิธี เช่นมัดสำหรับสะพายไหล่หรือมัดสำหรับสะพายหลังดาบเมืองเท่าที่พบเป็นการมัดเพื่อสะพายบ่าหรือคล้องไหล่ปมเชือกต้องอยู่ตรงข้ามกับคมดาบเสมอ นอกจาก 
 
 ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว เชือกดาบยังช่วยรัดฝักดาบไม่ให้คลายแยกออกเมื่อปลอกหวายหลุดและยังป้องกันคมดาบ บาดมือขณะถอดดาบออกจากฝักอีกด้วย

.....เชือกดาบแบบเดิมที่ติดมากับดาบเมืองในปัจจุบัน (๒๕๔๕) ไมมีขายมีแต่เชือกอย่างอื่นที่คล้าย ๆ กันเป็นไนล่อน หรือไหมพรมถักไม่อ่อนนุ่มเหมือนเชือกดาบแบบเดิมหรือเป็นเชือกไม่มีไส้ต้องนำมาฟั่นเองถึงจะใช้ได้ส่วนดาบใหม่ที่นิยมทำกันในเขตจังหวัดลำปางจะฟั่นเชือกดาบเองแต่ก็ไม่เหมือนเดิม เรียกการสานเชือกมัดดาบนอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรืองสีของเชือกดาบว่าสีใดต้องโฉลกกับเจ้าของที่เกิดในปีนั้น ๆ ด้วย (ดูรายละเอียดที่ โศลกดาบ)ส่วนดาบยศที่ฝักหุ้มเงินหุ้มทองมักไม่มีเชือกดาบคงเพราะไม่ต้องการสะพายดาบก็เป็นได้

 

คัดมาจากส่วนหนึ่งของ หนังสือ ดาบเมือง โดย อาจารย์ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง
สำนักพิมพ์ ปิรามิด พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๗

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มีดอรัญญิก ของดี นครหลวง






ถ้าหากกล่าวถึง "มีด"แล้วนั้นในเมืองไทยก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก"มีดอรัญญิก"  แน่นอน ชื่อเสียงในเรื่องความคงทน แข็งแกร่ง ทนทาน ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนให้การยอมรับจนถึงทุกวันนี้      
นับเวลาย้อนถอยไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน อาชีพตีมีดของชาวบ้านต้นโพธิ์ไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รู้จักกันในนามมีด “อรัญญิก”  ม่สามารถระบุได้ชัดว่าคนบ้านต้นโพธิ์ - ไผ่หนอง เริ่มตีมีดเพื่อการสงครามหรือว่าเพื่อการค้าขายกันแน่
         มีประวัติพอสังเขปว่าชาวบ้านดั้งเดิมของบ้านต้นโพธิ์ - ไผ่หนอง นั้นเป็นคนเวียงจันทร์ที่อพยพมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 2 เนื่องจากในขณะนั้น เวียงจันทร์เกิดทุกข์เข็ญ ข้าวยากหมากแพง มีโจรผู้ร้ายชุกชุม “นายเทา” หรือ “ขุนนราบริรักษ์” (ได้รับแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ) จึงเป็นผู้นำครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาได้เดินทางมาพบภูมิประเทศเเห่งนี้ เป็นที่เหมาะสมเเก่การประกอบอาชีพคือ เดิมเป็นดงไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่หนาเเน่น มีหนองน้ำและแม่น้ำป่าสักไหลผ่านสมัยนั้นไม่มีถนนหนทางเหมือนปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยทางน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการคมนาคมโดยเฉพาะ ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่สำคัญมากสำหรับช่างตีมีด เพราะไม้ไผ่มีประโยชน์อยู่ในตัวของมันนานับประการ เช่น นำมาเผาถ่านใช้เผาเหล็ก เพราะถ่านไม้ไผ่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น ต้น ลำ ใช้ทำบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ทำด้ามพะเนิน ด้ามค้อนเเละด้ามมีด ซึ่งช่างตีเหล็กต้องใช้อยู่เป็นประจำ จึงเห็นว่าภูมิประเทศเเห่งนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำเเหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์จึงพร้อมใจกันลงหลักปักฐานเเละได้ประชุมหารือกันตั้งชื่อบ้านของตนว่า “ บ้านไผ่หนอง” โดยนำวิชาช่างสิบหมู่ คือ ช่างทอง ช่างตีมีด ติดตัวกันมาด้วย เพื่อที่จะนำมาประกอบอาชีพทำทองรูปพรรณ เช่น ทำสร้อยข้อมือ แหวน ฯลฯ ตามแต่จะมีคนว่าจ้างมาครั้นต่อมาในราวพ.ศ. 2365เศรษฐกิจของคนทั่วไปไม่สู้ดีนัก การสั่งทำเครื่องทองรูปพรรณน้อยลง  อาชีพช่างทองก็ได้เลิกลาสลายตัวไป คงเหลือเเต่อาชีพตีมีดประเภทเดียว ชาวบ้านจึงยึดอาชีพตีมีดเป็นอาชีพหลัก ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นปะปนเลย ข้อสังเกตุที่เป็นหลักฐานว่าชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้มีอาชีพช่างทองคือ ถ้าเรานำดินที่ชุมชนเเห่งนี้ลงร่อนในน้ำก็จะพบเศษทองและขี้ตะไบทองอยู่ทั่วไป“นายเทา และครอบครัว” จึงหันมาตีมีดเป็นอาชีพหลักมากขึ้น เรื่อยมาถึงทุกวันนี้ 

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คติเตือนใจ

สิ่งที่เธอควรมี......                   "สติปัญญา"
สิ่งที่เธอควรแสวงหา                "กัลยาณมิตร"
สิ่งที่เธอควรคิด                      "ความดีงาม"
สิ่งที่เธอควรพยายาม                "การศึกษา"
สิ่งที่เธอควรเข้าหา                "นักปราชญ์"
สิ่งที่เธอควรฉลาด                    "การเข้าสังคม"
สิ่งที่เธอควรนิยม                   "ความซื่อสัตย์"
สิ่งที่เธอควรตัด                        "อกุศลมูล"
สิ่งที่เธอควรเพิ่มพูน              "บุญกุศล"
สิ่งที่เธอควรอดทน                    "การดูหมิ่น"
สิ่งที่เธอควรยิน                     "พุทธธรรม"
สิ่งที่เธอควรจดจำ                     "ผู้มีพระคุณ"
สิ่งที่เธอควรเทอดทูน          "สถาบันกษัตรฺย์"
สื่งที่เธอควรขจัด                       "ความเห็นแก่ตัว"
สิ่งที่เธอควรเลิกเมามัว        "การพนัน"
สิ่งที่เธอควรสร้างสรรค์             "สัมมาชีพ"
สิ่งที่เธอควรเร่งรีบ                "การแทนคุณบุพการี"
สิ่งที่เธอควรปฏิบัติทันที           "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด"       
                                                                        
                                                        ว.วชิรเมธี        

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มองลึกนึกไกลใจกว้าง

-มองลึก   คือเวลามองอะไร อย่ามองแค่ปรากฏการณ์ อย่ามองภาพลักษณ์ภายนอก  ที่เราเห็นกันอย่าง                           ฉาบฉวย แล้วก็คิดเอาเองว่า สิ่งนั้นเป็นความจริง สูงสุดแล้ว กล่าวอีกในหนึ่งคืออย่าเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น       เพราะสิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา                                                                                                                                                                                                                                                  
-นึกไกล   คือ อย่านึกแต่ว่า ฉันจะได้อะไร โดยไม่เคยถามต่อไปว่า ในขณะที่ฉันได้อะไรอยู่นั้นคนอื่นเขาต้องเสียอะไร สังคมไทยที่ต้องวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะนึกแต่ว่า ฉันจะได้อะไร แล้วคนอื่นจะเสียอะไรช่างหัวมัน
-ใจกว้าง  คือ ใจที่ปราศจากอคติ สามารถอยู่ร่วมกับคนทั้งโลก ฉันพี่น้องฉัน เสมือนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน อยู่กับชาวพุทธก็ได้ อยู่กับชาวคริสต์ก็ได้ อยู่กับชาวมุสลิมก็ได้ อยู่กับคนที่มีศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ได้อยู่กับคนสีผิวอะไรก็ได้ สวมเสื้อสีอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าเราใจกว้างได้อย่างนี้ ในโลกนี้ก็ไม่มีใครที่คู่ควรแก่ความโกรธ เกลียด ชิงชัง หรือเข่นฆ่า แม้แต่เพียงคนเดียว

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ที่นี่บ้านเกิด

อาจจะไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก  แต่ก็น่าอยู่นะค่ะ